1. หลักการและเหตุผล
แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2555 – 2593 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนากลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้และเสริมศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการพัฒนาคนและสร้างวัฒนธรรมของการมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมอากาศที่ประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมายทั้งสถานศึกษา นักวิชาการ หน่วยงานทุกส่วนที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สื่อมวลชน และสาธารณชนในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความตระหนัก ความเข้าใจสามารถประเมินวิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งความรู้และศักยภาพในการมีส่วนช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิผล ตามบทบาทและภารกิจที่รับผิดชอบ
ภายใต้แผนม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลาง หรือ Center of Excellence ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนการดำเนินงานที่สามารถเชื่อมโยงหน่วยงานวิชาการ ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ASEAN และระดับโลก เพื่อให้เกิดงานวิจัยและการพัฒนาบุคลากรด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีคุณภาพและต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change Research Strategy Center) ขึ้น ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

2. ภารกิจหลักของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การจัดตั้งศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรองรับการบริหารจัดการ และประสานงานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศและภายในประเทศ โดยมีภารกิจดังนี้
(1) ศูนย์เผยแพร่ข้อมูลวิชาการ (Data Distribution Center)
จัดทำงานข้อมูลในการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการและโครงการวิจัยด้านผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย และองค์กรเอกชน ทั้งภายในและระหว่างประเทศ
(2) ประสานความร่วมมือ
ประสานงานในการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ภายใต้แผนวิจัยยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้เห็นชอบร่วมกันในรูปแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(3) ติดตามและประเมินผล
ติดตามประเมินผลโครงการวิจัย ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยเพื่อให้สามารถประเมินผลตามข้อกำหนดในมาตรการ และตัวชี้วัดของโครงการ และการนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผน การบริหารจัดการและการต่อยอดงานวิจัยต่อไป
(4) ความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยด้านต่างๆ
ศึกษาความเชื่อมโยงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการงานวิจัย อาทิเช่น ด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านทรัพยากรน้ำ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษาความเชื่อมโยงควรดำเนินการให้เกิดความเข้าใจในความรู้ด้านสหวิทยาการที่เชื่อมโยงในรูปแบบการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
(5) การให้ความรู้ การศึกษา และการสร้างจิตสำนึก
จัดทำรูปแบบและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้กำหนดนโยบายและประชาชนทุกภาคส่วน ในด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการจัดเวทีร่วมเสวนาในประเด็นต่างๆ เป็นระยะๆ

3. แผนการดำเนินงาน ปี 2557
(1) จัดทำเว็บไซต์ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
· ฐานข้อมูล ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
· โครงการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับประเทศ และภูมิภาค ASEAN
· ความคืบหน้าข้อตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
· แผนหลักการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
(2) ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยภายในและระหว่างประเทศ
· ประสานงานในรูปแบบคณะกรรมการวิจัยยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบูรณาการงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและการเกษตร การสาธารณสุข การจัดการเมือง ความหลากหลายทางชีวิภาพ ความมั่นคงทางอาหารและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
· ประสานงานกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิเช่น USAID, JICA, UNDP เป็นต้น
· ให้คำปรึกษาและเสนอแนะ โครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์
(3) ติดตามและประเมินผล
ติดตามการประเมินผลโครงการวิจัย ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยเพื่อให้สามารถประเมินผลตามข้อกำหนดในมาตรการ และตัวชี้วัดของโครงการตลอดจนการนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผน การบริหารจัดการ และการดำเนินงานวิจัยต่อไป เพื่อมุ่งสูผลสัมฤทธิ์
(4) การให้ความรู้ การศึกษา และสร้างจิตสำนึก
จัดทำรูปแบบและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้กำหนดนโยบายและประชาชนทุกภาคส่วน ในด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดเวทีเสวนา และสัมมนา เพื่อให้ความรู้แก่ภาคส่วนต่างๆ